ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/property/1075833
ฟื้นหรือฟุบ?เกาะติดความเคลื่อนไหวอสังหาฯ หัวเมืองท่องเที่ยวครึ่งแรกปี66จากข้อมูลดีดีพร็อพเพอร์ตี้พบ5 เดือนแรกความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยใน กรุงเทพฯโต3% ชลบุรี โต3% ภูเก็ตลดลง 13% โคราช ลดลง27% เชียงใหม่ลดลง28%
ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ เผยข้อมูลเชิงลึกจากผู้เข้าเยี่ยมชมในเว็บไซต์ www.DDproperty.com และแอปพลิเคชัน DDproperty ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 ซึ่งเก็บข้อมูลระหว่างเดือนม.ค. – พ.ค. 2566 เพื่ออัปเดตเทรนด์ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในหัวเมืองท่องเที่ยวหลักของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ภูเก็ต, ชลบุรี และนครราชสีมา สะท้อนให้เห็นทิศทางการเติบโตของตลาดอสังหาฯ ไทย หลังกำลังซื้อต่างชาติกลับมาอีกครั้งหลังจากเปิดประเทศเต็มรูปแบบ
กรุงเทพฯ
ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นถึง 13% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ขณะที่ภาพรวมความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 ยังมีทิศทางเติบโตเป็นบวก โดยเพิ่มขึ้น 3% จากเดือนมกราคม
ทั้งนี้ เมื่อแบ่งตามประเภทที่อยู่อาศัยพบว่า คอนโดมิเนียมมีทิศทางการเติบโตอย่างน่าสนใจ โดยความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น 6% จากเดือนมกราคม ขณะที่บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ยังทรงตัว
เมื่อพิจารณาตามระดับราคาที่อยู่อาศัย พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความต้องการซื้อคอนโดฯ และทาวน์เฮ้าส์ในระดับราคา 1-3 ล้านบาทมากที่สุด (เพิ่มขึ้น 10% และ 4% จากเดือนมกราคม ตามลำดับ) ซึ่งสอดคล้องกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มองหาที่อยู่อาศัยในราคาที่จับต้องได้ ขณะที่บ้านเดี่ยวระดับราคามากกว่า 10 ล้านบาทจะได้รับความนิยมมากที่สุด (ลดลง 3% จากเดือนมกราคม)
ชลบุรี
ตลาดอสังหาฯ ในชลบุรีมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ด้วยระยะทางที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ประกอบกับมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการพัฒนาโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมไปถึงการพัฒนาระบบคมนาคมและนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ จึงทำให้ชลบุรีโดดเด่นทั้งด้านท่องเที่ยวและด้านอุตสาหกรรม ส่งผลให้ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในเดือนพฤษภาคมเติบโต 9%
นอกจากนี้ ภาพรวมความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยยังเพิ่มขึ้น 3% จากเดือนมกราคม โดยทาวน์เฮ้าส์ได้รับความสนใจ มีการความต้องการซื้อเพิ่มถึง 21% ตามมาด้วยคอนโดฯ เพิ่มขึ้น 9% โดยมีเพียงบ้านเดี่ยวเท่านั้นที่ความต้องการซื้อลดลง 4%
เมื่อพิจารณาตามระดับราคาที่อยู่อาศัยที่มีความต้องการซื้อมากที่สุด พบว่า อยู่ในระดับราคา 1-3 ล้านบาท ในทุกประเภทที่อยู่อาศัย ทั้งคอนโดฯ ทาวน์เฮ้าส์ และบ้านเดี่ยว (เพิ่มขึ้น 11%, เพิ่มขึ้น 20% และลดลง 6% จากเดือนมกราคม ตามลำดับ)
ภูเก็ต
ตลาดที่อยู่อาศัยของภูเก็ตในเดือนพฤษภาคมยังคงทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า เมื่อพิจารณาภาพรวมความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 พบว่า ลดลง 13% จากเดือนมกราคม
โดยคอนโดฯ เป็นที่อยู่อาศัยประเภทเดียวที่มีการเติบโตในช่วงที่ผ่านมา มีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น 10% สวนทางกับที่อยู่อาศัยแนวราบอย่างบ้านเดี่ยวที่ลดลงถึง 26% ส่วนทาวน์เฮ้าส์ลดลง 15% จากเดือนมกราคม
เมื่อพิจารณาตามระดับราคาที่อยู่อาศัยที่ได้รับความต้องการซื้อมากที่สุด พบว่า อยู่ในระดับราคา 1-3 ล้านบาท ในทุกประเภทที่อยู่อาศัย ทั้งคอนโดฯ ทาวน์เฮ้าส์ และบ้านเดี่ยว (เพิ่มขึ้น 7%, ลดลง 4% และลดลงถึง 62% จากเดือนมกราคม ตามลำดับ)
นครราชสีมา
นครราชสีมามีศักยภาพในการเป็นเมืองศูนย์กลางของระบบการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ที่สำคัญในอนาคต โดยมีโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา หรือมอเตอร์เวย์ (M6) รวมทั้งแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ และท่าเรือบกในอนาคต
แม้ว่าจะมีการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองยังต้องพึ่งพาความชัดเจนจากความคืบหน้าของโครงการคมนาคมต่าง ๆ ด้วย ส่งผลให้ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมายังทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
ขณะที่ภาพรวมความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 นั้นลดลง 27% จากเดือนมกราคม และปรับตัวลดลงในทุกประเภทที่อยู่อาศัย โดยทาวน์เฮ้าส์ลดลงมากที่สุดถึง 55% จากเดือนมกราคม ตามมาด้วยบ้านเดี่ยว และคอนโดฯ (ลดลง 28% และลดลง 11% จากเดือนมกราคม ตามลำดับ)
โดยระดับราคาที่อยู่อาศัยที่ได้รับความสนใจมากที่สุด พบว่า คอนโดฯ และทาวน์เฮ้าส์ อยู่ในระดับราคา 1-3 ล้านบาท (ลดลง 19% และลดลง 46% จากเดือนมกราคม ตามลำดับ) สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อผู้บริโภคที่ส่วนใหญ่ต้องการที่อยู่อาศัยในราคาที่จับต้องได้ มากกว่าเน้นความหรูหราแบบบ้านพักตากอากาศ ส่วนบ้านเดี่ยวอยู่ในระดับราคามากกว่า 10 ล้านบาท ลดลง 45% จากเดือนมกราคม
เชียงใหม่
อีกหนึ่งจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นถึง 14% MoM แต่ลดลงถึง 28% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม เนื่องจากปัจจัยลบที่มีอย่างต่อเนื่องของปัญหาฝุ่นควัน รวมถึงตลาดท่องเที่ยวที่เริ่มชะลอตัวลง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในระยะสั้นไม่เติบโตเท่าที่ควร และปรับลดลงในทุกประเภทที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะที่อยู่อาศัยแนวราบ โดยความต้องการซื้อบ้านเดี่ยวและคอนโดฯ ปรับลดลงมากที่สุดในสัดส่วนเท่ากันที่ 35% จากเดือนมกราคม ตามมาด้วยทาวน์เฮ้าส์ (ลดลง 25% จากเดือนมกราคม)
เมื่อพิจารณาตามระดับราคา พบว่า ระดับราคาที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในทุกประเภทที่อยู่อาศัยทั้งคอนโดฯ ทาวน์เฮ้าส์ และบ้านเดี่ยว คือ 1-3 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6%, ลดลง 28% และลดลง 45% จากเดือนมกราคม ตามลำดับ)