02-005-5940 Mon-Fri : 10:00 - 18.00

ทุนจีนบุกคอนโดไทยแสนล้าน ยึดเรียบ “กทม.-ภูเก็ต-พัทยา”

ที่มา https://www.prachachat.net/property/news-1341094

อัพเดตกลุ่มบริษัททุนจีนซุ่มลงทุนตลาดคอนโดเมืองไทยในรอบ 14 ปี สำรวจ 10 บริษัทมูลค่าโครงการทะลุ 1.14 แสนล้านบาท ไม่สนร่วมทุนบริษัทไทยเพราะต้องการเป็นผู้บริหารหลัก โมเดลเน้นขายลูกค้าจีนเต็มโควตาซื้อ 49% ที่เหลือเจาะลูกค้าคนไทย โฟกัสตลาดแมสราคา 8 หมื่น/ตร.ม. รอเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อลงทุนรอบใหม่ในกรุงเทพฯ-ภูเก็ต-พัทยา

ไทยมีโควตาต่างชาติ 49%

ในขณะที่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีจุดโฟกัสที่ตลาดคอนโดมิเนียมมีลักษณะพิเศษ จากการที่กฎหมายไทยเปิดช่องให้คนต่างชาติ สามารถถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้ในสัดส่วนไม่เกิน 49% ของพื้นที่ขายในโครงการ หรือที่เรียกว่าโควตา 49%

ทำให้เป็นจุดดึงดูดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติโดยอัตโนมัติ เพราะมีโอกาสขายให้กับลูกค้าต่างชาติได้เต็มโควตา 49% เหลือเพียง 51% ที่ขายให้กับลูกค้าคนไทย นักลงทุน 2ชาติหลักๆที่เข้ามาลงทุน จะเป็นญี่ปุ่นกับจีน จุดเน้นจะอยู่ที่ลูกค้า

ชาวต่างชาติ  จะเป็นลูกค้าจีนที่เกินครึ่งอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนสร้างคอนโดฯในเมืองไทย เพื่อที่จะขายลูกค้าชาวจีนด้วยกัน จากการสำรวจนักลงทุนจีนในตลาดคอนโดฯเมืองไทย พบว่ามีการเข้ามาลงทุนอย่างจริงจังไม่ต่ำกว่า 14 ปี เริ่มเข้ามาจดทะเบียนบริษัทไทยตั้งแต่ปี 2552เป็นต้นมา 10 บริษัทที่ดำเนินกิจการการตลาดอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่าลงทุนรวมกันเกิน 1แสนล้านบาท

10 บริษัททุนจีนซุ่มลงทุน

1.บริษัท ริสแลนด์ (ประเทศไทย) จำกัด มีทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาทในปี 2560 พัฒนาแล้วมูลค่ารวม 51,300 ล้าน

2.บริษัท ไฮไชน์ ดีเวลลอปเม้นท์ กรุ๊ป จำกัด ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาทในปี 2561 พัฒนาแล้ว 22,500 ล้านบาท  

3.บริษัท เทียนเฉิน อินเตอร์เนชั่นแนล พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาทในปี 2552 พัฒนาแล้ว17,000 ล้านบาท

4.บริษัท รอยัลลี ไชนีส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาทในปี 2556 พัฒนาแล้ว 7,800 ล้านบาท

5.บริษัท พีทีเอฟ เรียลตี้ (2017) จำกัด ทุนจดทะเบียน 130 ล้านบาทในปี 2560   พัฒนาแล้ว 6,600 ล้านบาท

 6.บริษัท ดับบลิว พี ดีเวลลอปเปอร์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาทในปี 2556 พัฒนาแล้ว 3,000 ล้านบาท

7.บริษัท จีดีที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาทในปี 2556 พัฒนาแล้ว 2,600 ล้านบาท

8.บริษัท ซีทีซีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาทในปี 2555 พัฒนาแล้ว 1,900 ล้านบาท

9.บริษัท มีสไตล์ เอสเตท จำกัด ทุนจดทะเบียน 150 ล้านบาทในปี 2556 พัฒนาแล้ว 1,300 ล้านบาท

10.บริษัท อีลิท พลัส ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาทในปี 2559 พัฒนาแล้ว 700 ล้านบาท

นักลงทุนจีนที่เข้าสู่ตลาดอสังหาฯเมืองไทย ได้แก่  1.เข้ามาด้วยตัวเองแล้วเปิดบริษัทไทย  2.ร่วมทุนกับคนไทยเพื่อพัฒนาโครงการต่าง ๆ  3.เข้ามาแบบบริษัทต่างประเทศ  

ข้อสังเกตคือ บริษัททุนจีนในตลาดอสังหาฯไทย หลายบริษัทไม่ได้ทำธุรกิจพัฒนาที่ดินมาก่อน หรือในประเทศจีนก็ไม่เคยทำอสังหาฯเช่นกัน แต่มีการลงทุนธุรกิจอื่นที่ประสบความสำเร็จในเมืองไทย  ระกอบกับมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเยือนเมืองไทยเคยมีสถิติสูงสุดปีละ 10 ล้านคนมาแล้ว จึงสนใจลงทุนโรงแรมในกรุงเทพฯ กับหัวเมืองท่องเที่ยว และต่อยอดเป็นลงทุนคอนโดฯในที่สุด

หลังโควิดจีนเล็งลงทุนรอบใหม่

บริษัททุนจีนมีการเข้ามาลงทุนแล้วหลากหลายรูปแบบ ทั้งพัฒนาคอนโดฯ บ้านแนวราบ และโครงการมิกซ์ยูส กรณีสินค้าคอนโดฯส่วนใหญ่เกาะทำเลแนวรถไฟฟ้า เพราะเป็นความคุ้นเคยของนักลงทุนจีนอยู่แล้ว ระดับราคาห้องชุดอยู่ที่ราคา 2-3 ล้านบาทบวกลบ เฉลี่ยราคา 8 หมื่นบาท/ตารางเมตร ทำเลการลงทุน นอกจากพื้นที่หลักในกรุงเทพฯและปริมณฑลที่มีรถไฟฟ้าสายใหม่กำลังก่อสร้างและทยอยเปิดให้บริการ ยังมีตลาดเป้าหมายตามหัวเมืองท่องเที่ยว โดยเฉพาะภูเก็ตที่บริษัททุนจีนให้ความสนใจเข้าไปลงทุนเพิ่มเติม รอเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนกว่านี้ คาดว่ามีอีกหลายบริษัทพร้อมจะเข้าไปลงทุนเพิ่มเติม

Related Posts